- 0.0 (0)
- |
- ขายได้: 0
วงจรแห่งความชั่วร้าย
เมื่อพูดถึงปัญหาความยากจนของประชาชนแล้ว ย่อมเห็นได้ว่าความยากจนเป็นปัญหาหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหาอื่น ๆ ตามมา ทั้งในเรื่องการค้ายาเสพติด ธุรกิจผิดกฎหมาย บ่อนการพนัน และรวมไปถึงการค้าประเวณี ซึ่งปัญหาความยากจนนี้จะเป็นส่วนหนึ่งของวัฏจักรแห่งความชั่วร้ายของชีวิตมนุษย์และสังคม (VICIOUS CYCLE) อันได้แก่ความยากจน ความไม่รู้และ ความเจ็บป่วย ทั้งนี้ รศ.ดร.อุทัย บุญประเสริฐ (2546 : 1) ได้กล่าวถึงวงจรแห่งความชั่วร้ายนี้ว่า
“วงจรแห่งความชั่วร้ายที่จะกล่าวถึงนี้เป็นตัวแบบ (Model) หรือแบบจำลองแบบหนึ่งที่ให้คำ อธิบายแบบง่าย ๆ ช่วยให้เห็นว่า อะไรคือสิ่งชั่วร้าย สิ่งเลวร้ายที่เป็นมหันตภัยที่แท้จริงในชีวิตของมนุษย์ หากชีวิตของมนุษย์หลงติดกับ ต้องตกเข้าไปในวงจรดังกล่าวแล้ว สภาพชีวิตและความเป็นอยู่จะมีแต่ตกต่ำและเลวร้ายยิ่งขึ้นอยู่ตลอดเวลา วงจรดังกล่าวนี้อาจแสดงเป็นแผนภาพสัมพันธ์แบบง่ายๆ ได้ดังนี้ ”
จากคำอธิบายดังกล่าว รศ.ดร.อุทัย บุญประเสริฐ ยังได้ระบุว่า ความโง่ (Ignorance) หรือความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ความจน(Poverty) ความยากไร้ความขาดแคลน การมีไม่เพียงพอและไม่เหมาะสมกับความจำเป็นในชีวิต และความเจ็บป่วย(Sickness) หรือความบกพร่องด้านสุขภาพอนามัยของบุคคล หากเกิดกับผู้ใด หรือสังคมใดแล้ว ย่อมจะมีพลังที่สามารถดึงดูดให้บุคคลนั้นหรือสังคมนั้นประสบแต่ความทุกข์ยาก ตกต่ำยากไร้ยิ่งขึ้นทุกขณะ
ในส่วนของวงจรแห่งความชั่วร้ายนี้ ผศ.ดร.ชนิดา รักษ์พลเมือง (2527 : 58)ได้ระบุว่ามี 4 ประการคือ ความยากจน ความไม่รู้ ความเจ็บป่วย และความเฉื่อย โดยเขียนเป็นวงจร ดังนี้
จากแนวคิดดังกล่าว จะเห็นได้ว่า วงจรแห่งความชั่วร้าย นั้น จะมีองค์ประกอบหลัก 3 ประการ คือ ความยากจน ความโง่ และความเจ็บป่วย และหากเพิ่มความเฉื่อยชาเข้าไปด้วย จะยิ่งทำให้คนไม่สามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตได้
ในการแก้ปัญหาเพื่อตัดวงจรแห่งความชั่วร้ายนี้ จำเป็นต้องแก้ปัญหาทั้ง 3 หรือ 4 องค์ประกอบนี้ให้ได้ โดยการตัดวงจรใดวงจรหนึ่ง หรือตัดทั้ง 3 วงจร ก็จะทำให้คุณภาพชีวิตของคนในชาติมีความเป็นอยู่ดีขึ้น นั่นคือ ถ้าประชาชนหรือบุคคล มีความรู้ เขาก็จะประกอบสัมมาชีพได้ เมื่อมีอาชีพชีวิตก็จะมีความสมบูรณ์พูนสุข มีปัจจัย 4 ในการดำรงชีพ โอกาสเจ็บไข้ได้ป่วยก็น้อยลง หรือมีโอกาสเข้ารับการรักษาพยาบาลได้มากขึ้น และถ้ามีความขยันไม่เฉื่อยชา ก็จะยิ่งทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น และเช่นเดียวกัน หากประชาชนไม่ยากจน มีเงินทองเพียงพอต่อการดำรงชีพ เขาก็มีโอกาสที่จะดูแลสุขภาพของตนและครอบครัวให้มีสุขภาพแข็งแรง การทำงานประกอบอาชีพก็จะดีขึ้น และสามารถให้การศึกษาแก่ลูกหรือบุคคลในครอบครัวของเขา รวมทั้งมีโอกาสได้ศึกษาหาความรู้ให้แก่ตนเองได้ตลอดเวลา ก็จะทำให้ชีวิตมีคุณภาพได้เช่นกัน และการเจ็บป่วยก็เช่นกันหากประชาชนมีสุขภาพที่แข็งแรงไม่เจ้บไข้ได้ป่วยเขาก็สามารถประกอบอาชีพได้ ไม่ยากจน และเพิ่มพูนความรู้ได้เช่นที่กล่าวมา
การศึกษากับการแก้ปัญหาวงจรแห่งความชั่วร้าย
จากวงจรแห่งความชั่วร้ายที่กล่าวมาข้างต้น จะเห็นได้ว่าหากรัฐสามารถเข้าไปแก้ไขตัดตอนวงจรแห่งความชั่วร้ายนี้ได้ก็จะทำประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น อันจะส่งผลต่อการพัฒนาประเทศต่อไป ส่วนวิธีการแก้ปัญหาได้นั้น รัฐสามารถทำได้หลายวิธี ซึ่งขณะนี้รัฐบาลก็ดำเนินการอยู่เช่น การกระจายรายได้ให้แก่ชาวชนบทตามโครงการกองทุนหมู่บ้าน การสร้างอาชีพให้แก่ประชาชนตามโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ หรือช่วยเหลือด้านสาธารณะสุขเช่นโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค แต่ที่กล่าวมานี้เป็นการแก้ปัญหาระยะสั้น แก้ปัญหาเฉพาะหน้า เพราะหากเงินหมดเมื่อใด ประชาชนก็กลับสู่สภาพเดิมคือยากจน ไม่มีอาชีพ หรือไม่สามารถเข้ารับการรักษาพยาบาลได้ แต่สิ่งที่เป็นการแก้ไขวงจรแห่งความชั่วร้ายในระยะยาวนั้น จะต้องใช้การศึกษาเป็นเครื่องมือในการพัฒนาคนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าเดิม
หากถามว่าการศึกษาจะแก้ปัญหาวงจรแห่งความชั่วร้ายได้อย่างไร ก็ขออธิบายให้เห็นภาพได้ดังนี้ว่า เมื่อรัฐให้ความรู้แก่ประชาชน ไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม เช่นการให้การศึกษาในระบบโรงเรียน ก็จะทำให้เยาวชนรุ่นใหม่เป็นคนดี มีปัญญา มีความสุข มีศักยภาพพร้อมที่จะแข่งขันและร่วมมืออย่างสร้างสรรค์ในเวทีโลก ตามเป้าหมายของหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2544 เยาวชนเหล่านี้ ก็จะสามารถนำความรู้ไปประกอบอาชีพได้ และหลุดพ้นจากความยากจน สามารถดูแลสุขภาพของตนเองได้ ส่วนการศึกษานอกระบบ ก็จะสามารถส่งเสริมให้คนทุกรุ่นทุกวัยได้รับการศึกษา และสามารถสืบค้นความรู้ด้วยตนเองอันจะนำไปสู่การพัฒนางานอาชีพของตน ก็จะขจัดความไม่รู้เท่าทันสังคมโลก รู้จักปรับเปลี่ยนแนวคิดในการทำงานและพัฒนางานของตนให้ดีขึ้น เมื่องานดีขึ้นก็ย่อมจะนำไปสู่การหลุดพ้นจากความยากจนได้นั่นเอง
ในด้านความเจ็บป่วยนั้น การศึกษาก็ย่อมช่วยให้คนสามารถเรียนรู้ ถึงการดูแลสุขภาพอนามัยของตน ทำให้ตนเองมีสุขภาพแข็งแรง รู้จักระมัดระวังรับประทานอาหาร การป้องกันโรคอย่างถูกวิธี หรือการรับรู้ถึงโรคระบาดใหม่ๆ ที่จะเข้ามามีผลกระทบต่อตนเองและครอบครัว ทั้งนี้จะเห็นได้ว่าหลักสูตรไม่ว่าจะเป็นหลักสูตรระดับชั้นประถมศึกษา มัธยมศึกษา พ.ศ. 2521 หรือหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2544 ก็จะสอดแทรกเรื่องสุขภาพอนามัยไว้ทั้งสิ้นโดยอยู่ในกลุ่มสาระการเรียนรู้วิชาสุขศึกษาและพลศึกษา นอกจากนั้นในรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร กระทรวงสาธารณสุขได้ปรับเปลี่ยนแนวการให้บริการด้านสาธารณสุขที่เดิมเคยเป็นฝ่ายรับอย่างเดียวคือมุ่งเน้นการรักษาประชาชน เป็นนโยบายเป็นการรุกบ้าง คือ มีการเน้นการให้ความรู้เกี่ยวกับการสาธารณสุขแก่ประชาชน ควบคู่ไปกับการรักษา โดยเฉพาะมีการจัดโครงการร่วมระหว่างกระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงสาธารณสุข ในการการเสริมสร้างความรู้ให้แก่นักเรียน ซึ่งจะทำให้นักเรียนได้มีความรู้ความเข้าใจ ในการดูแลสุขภาพอนามัยของตนไม่ให้เจ็บไข้ได้ป่วย
ในด้านความยากจนนั้น การศึกษาก็จะมีบทบาททำให้คนได้เรียนรู้ที่จะประกอบอาชีพ มีความรู้ในการทำงานหารายได้ เมื่อมีรายได้ ก็จะสามารถหลุดพ้นจากความยากจนได้
การศึกษากับการแก้ปัญหาความยากจน
เมื่อกล่าวถึงความยากจน เรามักจะเข้าใจว่าหมายถึงคนที่ไม่มีเงิน แต่ถ้าถามคนทั่วๆ ไปว่าเขารวยมั้ย ก็ไม่ค่อยมีใครบอกว่ารวยสักคน จะบอกว่าเขาพออยู่ได้ หรือบอกว่าเขาจนอยู่ แต่ในทางพระพุทธศาสนาถือว่า คนที่ไม่รู้จักพอคือคนจน คือเขาจะต้องขวนขวายหาเงิน หรือทรัพย์เพิ่มเติมต่อไปไม่หยุด แต่คนรวยคือคนที่รู้จักพอ ถึงแม้จะเป็นคนที่มีทรัพย์สินไม่มากก็ตาม คือ พอกินพอใช้ตามอัตภาพของตน ซึ่งตรงกับแนวคิดของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่มุ่งให้ประชาชนรู้จัก “พอ” ก็จะอยู่ในสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันได้ ตามทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงนั่นเอง
บทสรุป
จากที่กล่าวมา จะเห็นได้ว่าการนำการศึกษามาใช้ในการแก้ปัญหาความยากจนนั้นสามารถทำได้ ซึ่งหากมองเพียงผิวเผินก็จะเห็นว่านำการศึกษาไปใช้ในการสอนเยาวชนให้มีความรู้เพื่อให้อีก 10 – 20 ปี ข้างหน้าเยาวชนเหล่านี้จะมีงานทำและไม่ยากจน หรือการจัดอบรมอาชีพระยะสั้นเหมือนกับที่ กทม.ได้ดำเนินการอยู่เช่นเดียวกับ “ลุงขาวไขอาชีพ” ซึ่งก็จะแก้ปัญหาได้ในระดับหนึ่ง และเป็นการแก้ปัญหาระยะสั้น แต่หากรัฐบาลจะให้การศึกษาเกิดประโยชน์สูงสุดในการแก้ปัญหาความยากจนแล้วก็ควรทำตามแนวโครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่ก็จะประสบผลสำเร็จอย่างดียิ่ง นั่นคือ รัฐสามารถระดมนักวิชาการจากหน่วยงานของรัฐมาร่วมกันแก้ปัญหาและสามารถดำเนินการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบครบวงจร มิใช่มอบหมายให้กระทรวงแรงงานดำเนินการจัดหางานให้ประชาชนเท่านั้นซึ่งอาจจะไม่เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน
ที่สำคัญเรา ในฐานะที่เราเป็น ครู เราสามารถช่วยเหลือให้ลูกศิษย์มีความรู้ และนำความรู้ไปต่อสู้วงจรแห่งความชั่วร้ายได้ รวมทั้งหากเราสามารถเผื่อแผ่ให้ความรู้กับผู้ปกครองและชุมชนที่อยู่รอบข้างโรงเรียนเพื่อยกระดับสังคมและท้องถิ่นชุมชนด้วยแล้ว เราก็ย่อมได้ชื่อว่าเป็น ครู อย่างสมบูรณ์ และตอบแทนคุณแก่ประเทศชาติ สมกับการเป็นข้าราชการอย่างแท้จริง
**********************
- 0
- 3 ปีที่ผ่านมา
รายละเอียดเพิ่มเติม
-
รหัสข้อสอบS9640630
-
รหัสข้อสอบS9640630