- 0.0 (0)
- |
- ขายได้: 0
หลายประเทศที่มีศักยภาพ ได้มีการแทรกซึมจัดตั้งข่ายงานด้านข่าวกรองอยู่ทั่วทุกมุมโลก วัตถุประสงค์เพื่อรวบรวมข่าวกรองในด้านต่างๆ อาทิ ทางการทหาร ทางภูมิศาสตร์ ทางสังคมจิตวิทยา ทางเศรษฐกิจ ทางการเมืองและการปกครอง ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทางการขนส่งและโทรคมนาคม และทางชีวประวัติของบุคคลสำคัญ ของแต่ละประเทศ โดยจะอยู่ในรูปแบบขององค์กรเอกชน (NGO) องค์กรการกุศล นักสิทธิมนุษยชน นักธุรกิจ หรือแม้แต่เข้าไปฝังตัวตั้งรกรากแต่งงานมีครอบครัวกับคนในชาตินั้นๆ ทั้งนี้เพื่อรวบรวมข้อมูลให้ได้มากที่สุด ดังคำกล่าวที่ว่า “ข้อมูล คือพลังอำนาจที่ยิ่งใหญ่”
หัวใจของการปฏิบัติงานข่าวกรอง
คือ ความพยายามที่จะทราบล่วงหน้าให้ได้ว่า จะมีอะไรเกิดขึ้นในอนาคต ทั้งระยะใกล้ และไกล เพื่อให้ผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการ ทราบสถานการณ์ล่วงหน้า และสามารถนำไปเป็นข้อพิจารณาในการกำหนดนโยบาย หรือวางแผนการปฏิบัติให้เหมาะสม และสอดคล้องกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น การคาดการล่วงหน้าได้ก่อน ย่อมรู้ล่วงหน้าได้ว่า ฝ่ายเราควรทำอะไร ทำอย่างไร จะรุก รับ หรือหลบหลีกอย่างไร จึงจะเหมาะสม และเป็นประโยชน์ต่อฝ่ายเรามากที่สุด
เครื่องมือที่จะให้การคาดการล่วงหน้าได้อย่างถูกต้อง สมบูรณ์ ก็คือ การประมาณการข่าวกรอง และการเตรียมสนามรบด้านการข่าว ซึ่งจะทำให้ทราบข้อมูลต่อไปนี้
- ทราบความเป็นมา และสถานภาพฝ่ายตรงข้าม
- ทราบความเคลื่อนไหวที่สำคัญในห้วงระยะเวลา
- ทราบพื้นที่ปฏิบัติการอย่างกระจ่างชัด
- กำหนดท่าทีแนวโน้มได้อย่างสมเหตุสมผล
หลักยุทธศาสตร์
การจะชนะสงครามด้านต่าง ๆ ได้ ต้องมีแนวทางการต่อสู้ ทางด้านต่าง ๆ ที่ดีที่สุด ที่เรียกว่า “ยุทธศาสตร์ชาติ” ซึ่งประกอบด้วย ยุทธศาสตร์ด้านสังคมจิตวิทยา ยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจ ยุทธศาสตร์ด้านการเมืองระหว่างประเทศ ยุทธศาสตร์ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และยุทธศาสตร์ด้านการทหาร
ยุทธศาสตร์ หรือแนวทางปฏิบัติในการต่อสู้ ได้มาจากการเก็บรวบรวมข้อมูล ประมวลผล และวิเคราะห์ข้อมูล ให้รู้ถึงพลังอำนาจที่แท้จริงทั้งฝ่ายตรงข้าม และฝ่ายเรา ซึ่งจะตรงกับหลักการสงครามของ “ซุนวู” ที่ว่า “รู้เขา รู้เรา รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง”
สำหรับแนวความคิดทางทหาร จะแบ่งมอบหน้าที่รับผิดชอบการปฏิบัติงานออกเป็น สายงานหลัก และสายงานสนับสนุน สายงานหลักคือ 1) งานการข่าว 2) งานยุทธการ ส่วนสายงานสนับสนุนคือ 1) งานงบประมาณ 2) งานกำลังพล 3) งานส่งกำลังบำรุง 4) งานกิจการพลเรือน
หลักการสงคราม “รู้เขา รู้เรา” นั้น รู้เขา เป็นหน้าที่ของสายงานการข่าว ส่วนรู้เรา เป็นหน้าที่ของสายงานยุทธการ ส่วนสายงานอื่น ๆ มีหน้าที่สนับสนุนให้ “รู้เขา รู้เรา” อย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดประสิทธิผลในทางปฏิบัติสูงสุด
“รู้เรา” หมายถึง รู้พลังอำนาจของตัวเอง รู้จักตัวเอง รู้จักองค์กร รู้จักหน่วยงาน รู้จักขีดความสามารถ รู้ขีดจำกัด รู้จุดเด่น รู้จุดด้อย รู้จักเครื่องมือและวิธีใช้ รู้จักระบบและวิธปฏิบัติงาน รู้ภารกิจและพันธกิจ รู้จักวิธีการพัฒนาและปรับปรุง ให้ได้เปรียบฝ่ายตรงข้ามอยู่เสมอ (รู้ในเรื่อง การจัด การฝึก การยุทธ์)
“รู้เขา” หมายถึง รู้พลังอำนาจของฝ่ายตรงข้าม รู้จักฝ่ายตรงข้ามคือ การรู้ทั้งสิ้นอย่างกระจ่างตามองค์ประกอบข่าวกรองทางยุทธศาสตร์ และข่าวกรองทำเนียบกำลังรบ รวมทั้งรู้ถึง ยุทธศาสตร์ และยุทธวิธี ที่ฝ่ายตรงข้ามจงใจนำมาใช้กับฝ่ายเรา
การรู้เขา ต้องรู้อย่างเป็นระบบ และมีเป้าหมาย โดยต่อเนื่องอย่างสมบูรณ์ ทุกแง่มุมในสายงานข่าว เพื่อมิให้สับสน และเกิดการ “รู้เขา” อย่างเป็นระบบ และมีประสิทธิภาพ ควรแบ่งมอบความรับผิดชอบการ “รู้เขา” ให้กับผู้ปฏิบัติในสายงานข่าวโดยแน่ชัดด้วยการกำหนดขอบเขตความรับผิดชอบ ให้คาบเกี่ยวกัน แต่ไม่ซ้ำซ้อนกัน
ในระดับชาติ “รู้เขา” ผู้ปฏิบัติควรประกอบด้วย สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช,) สำนักข่าวกรองแห่งชาติ (สขช,) กระทรวงการต่างประเทศ (กต,) กระทรวงมหาดไทย (มท,) กระทรวงการคลัง (กค,) กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท,) และกระทรวงกลาโหม (กห,)
ระดับชาติ การ “รู้เขา” ข้อมูลที่ควรรับรู้ และต้องจัดทำให้มีขึ้นก็คือ องค์ประกอบข่าวกรองทางยุทธศาสตร์ของฝ่ายตรงข้ามที่เป็นคู่แข่ง หรือคาดว่าจะเป็นคู่แข่งกับประเทศไทยในด้านต่าง ๆ โดยดำเนินการให้มีขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ดังนี้
- จัดทำข้อมูลพื้นฐานโดยละเอียดตามองค์ประกอบข่าวกรองยุทธศาสตร์
- ติดตามสถานการณ์ การเปลี่ยนแปลงด้านข่าวกรองทางยุทธศาสตร์ โดยจัดทำเป็น รายงานสถานการณ์ความเคลื่อนไหวข่างกรองทางยุทธศาสตร์ ตามห้วงระยะเวลา
- ค้นหายุทธศาสตร์ และยุทธวิธี ของฝ่ายตรงข้ามที่มุ่งกระทำต่อประเทศไทย ซึ่งจะได้จากการทำประมาณการข่าวกรองทางยุทธศาสตร์
ในระดับชาติเมื่อ “รู้เขา” ตามองค์ประกอบข่าวกรองทางยุทธศาสตร์ และรู้ยุทธศาสตร์ของฝ่ายตรงข้ามที่มุ่งกระทำต่อประเทศไทยแล้ว ควรมีเป้าหมาย หรือกำหนดทิศทางที่จะนำ “รู้เขา” ที่ได้ไปใช้ประโยชน์โดยแน่ชัด เช่น นำไปเป็นมูลฐานในการกำหนด ยุทธศาสตร์ และยุทธวิธี ในด้านต่าง ๆ ของไทยต่อประเทศนั้น ๆ
องค์กรที่มีหน้าที่กำหนดยุทธศาสตร์ ในด้านต่าง ๆ ของไทยต่อประเทศต่าง ๆ ที่เป็นคู่แข่ง หรือคาดว่าจะเป็นคู่แข่ง ควรจะเป็นการปฏิบัติร่วมกันระหว่าง สภาความมั่นคงแห่งชาติ และสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ซึ่งจะต้องมีการตรวจสอบสภาวะแวดล้อมทางยุทธศาสตร์ ทั้งภายในและภายนอกอย่างรอบคอบ แล้วกำหนดออกมาเป็นแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่.....จากนั้นให้สภาความมั่นคงแห่งชาติ กำหนดยุทธศาสตร์ของชาติด้านอื่นๆ โดยมีกระทรวงกลาโหม เป็นผู้ช่วยเหลือในการกำหนดยุทธศาสตร์ด้านการทหาร
ในระดับปฏิบัติการ จะต้อง “รู้เขา” ให้ลึกซึ้งลงไปอีก จนถึงระดับยุทธวิธี หรือวิธีการปฏิบัติในด้านต่าง ๆ ของฝ่ายตรงข้าม ที่มุ่งกระทำต่อประเทศไทย เพื่อที่จะกำหนดยุทธวิธีทางด้านต่าง ๆ ของไทยต่อประเทศนั้น ๆ องค์กรที่มีหน้าที่ปฏิบัติ ควรเป็นกระทรวงที่มีหน้าที่รับผิดชอบในด้านนั้น ๆ โดยตรง หน่วยงานในบังคับบัญชา และหน่วยปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ
ด้านการทหาร (ด้านการป้องกันประเทศ) ผู้ปฏิบัติประกอบด้วย กระทรวงกลาโหม กองบัญชาการกองทัพไทย กองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ กองทัพภาค กองพล และตำรวจตระเวนชายแดน
ระดับปฏิบัติการด้านการทหาร การ “รู้เขา” ข้อมูลที่ควรรับรู้ และต้องจัดทำให้มีขึ้นก็คือ ปัจจัยทำเนียบกำลังรบ และยุทธวิธีของฝ่ายตรงข้าม ที่มุ่งกระทำต่อกองทัพไทย โดยกำหนดเป้าหมายของการ “รู้เขา” เพื่อนำไปเป็นมูลฐานการกำหนดภัยคุกคาม จากทิศทางด้านต่าง ๆ ของประเทศ และเป็นมูลฐานในการเตรียมกำลังกองทัพ และจัดทำแผนป้องกันประเทศ ให้เป็นรูปธรรมต่อไป
การกำหนดเป้าหมาย ในการปฏิบัติงานด้านการข่าว จะได้ผลและเป็นประโยชน์อย่างชัดเจน จะต้องมีการกำหนดความต้องการข่าวกรอง โดยยึดถือภารกิจของหน่วยเป็นหลัก ซึ่งจะเป็นทิศทาง และเป้าหมายที่สามารถประเมินผลการปฏิบัติงานด้านการข่าวได้
เมื่อมีเป้าหมายที่ชัดเจน ก็จะเป็นการง่ายต่อการแจกแจง แยกแยะ และวางแผนการใช้เครื่องมือหาข่าวที่เหมาะสมกับการเข้าถึงแหล่งข่าวแต่ละประเภท ที่แตกต่างกัน ซึ่งจะสามารถนำข่าวสารมาตรวจสอบ และดำเนินกรรมวิธีให้เป็นข่าวกรองที่มีค่าได้
จากหลักการที่ว่า “ต่างพื้นที่ ต่างสถานการณ์ ต่างวิธีการรบ” การจะชนะในการต่อสู้ให้ได้นั้น นอกจากจะรู้สถานการณ์ฝ่ายตรงข้ามแล้ว ยังจะต้องมีความเข้าใจในพื้นที่ปฏิบัติการอย่างแจ้งชัด ซึ่งประกอบด้วย ลมฟ้าอากาศ ลักษณะภูมิประเทศ และสภาพประชาชน (การเมือง การปกครอง เศรษฐกิจ สังคมจิตวิทยา) ซึ่งสามารถผลิตเอกสารด้านการข่าวได้อย่างเป็นรูปธรรม คือ วิเคราะห์พื้นที่ปฏิบัติการตามห้วงระยะเวลา
การรู้จักฝ่ายตรงข้าม (ข้าศึก/คู่ต่อสู้/คู่แข่งขัน/ฯลฯ) ซึ่งส่งผลกระทบต่อความมั่นคงภายใน ทั้งเป็นกลุ่มที่บั่นทอน และกลุ่มที่ส่งเสริมความมั่นคง ที่มีกองกำลังติดอาวุธ และไม่ติดอาวุธ) ประกอบด้วย ผู้ก่อเหตุรุนแรง, กลุ่มผู้ใช้แรงงาน, กลุ่มเคลื่อนไหวเพื่อเกษตรกร, กลุ่มเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย, กลุ่มเคลื่อนไหวเพื่อสิ่งแวดล้อม, กลุ่มเคลื่อนไหวเพื่อพิทักษ์สิทธิมนุษยชน, กลุ่มนิสิต – นักศึกษา และ องค์กรพัฒนาเอกชนที่เกี่ยวข้อง
สรุป
การปฏิบัติงานด้านข่าวกรอง หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรทุ่มเทเครื่องมือด้านการข่าว (คน, เครื่องมือเครื่องใช้, รูปแบบวิธีการ) ให้มีประสิทธิภาพกว่านี้ หลีกเลี่ยงการลอกข่าวกันไปมา หรือลอกข่าวจากสื่อมวลชน สื่อออนไลน์ ด้วยข้ออ้าง “ปฏิบัติงานภายใต้งบประมาณอันจำกัด” แต่ควรแสวงหาเป้าหมายงานการข่าว นั่นก็คือ ทุ่มเทเพื่อให้รู้จักฝ่ายตรงข้าม (ข้าศึก/คู่ต่อสู้/คู่แข่งขัน/ฯลฯ) และสภาพพื้นที่ปฏิบัติการนั่นเอง
---------------------------------------
- 0
- 3 ปีที่ผ่านมา
รายละเอียดเพิ่มเติม
-
รหัสข้อสอบS8570630
-
รหัสข้อสอบS8570630